เปลี่ยนการแสดงผล
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซด์
วันนี้
525
เดือนนี้
49386
เมื่อวาน
15259
เดือนที่แล้ว
261327
รมช. เกษตรฯ ปฏิบัติการเชิงรุก ระดมสรรพกำลังลุยแก้ปัญหาหมอกควัน และฝุ่น PM2.5 พื้นที่ภาคเหนือ โปรยน้ำแข็งแห้งสู้ฝุ่นพิษ บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน
29 มีนาคม 2568 22 ครั้ง
วันนี้ (29 มีนาคม 2568) นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะเดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมเป็นประธานการประชุม “การปฏิบัติภารกิจบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 พื้นที่ภาคเหนือ ปี 2568” โดยมีนายราเชน ศิลปะรายะ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นายศิวกร บัวป้อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้บริหารจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และดูงานการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมทั้งมอบนโยบายการดำเนินงานการปฏิบัติภารกิจบรรเทาปัญหา ด้วยการบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ

นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง สร้างความเดือดร้อนทั้งชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชน โดยในช่วงเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน ซึ่งเป็นฤดูกาลของการเกิดไฟป่าและมีการเผาไหม้รายวัน กินพื้นที่กว้าง เป็นปัญหาที่เกิดซ้ำ ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเกิดปัญหาไฟป่าลุกไหม้ตามธรรมชาติ เพราะสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง และยังมีการเผาเพื่อเริ่มต้นทำการเกษตรครั้งใหม่ รวมทั้งการเผาป่า สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่และจำเป็นต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ซึ่งการแก้ไขจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่เพื่อยับยั้งและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ได้การลงพื้นที่ในครั้งนี้ รมช.เกษตรฯ พร้อมคณะ ได้ติดตามดูการดำเนินงานบรรเทาปัญหาด้วยการโปรยน้ำแข็งแห้ง ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ในการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่ริเริ่มโดยกรมฝนหลวงฯ โดยน้ำแข็งแห้งที่โปรยลงไปจะถูกพ่นเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อช่วยปรับลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผันให้ต่ำลงและเกิดช่องว่าง ทำให้ฝุ่น PM2.5 สามารถลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว วิธีการนี้จะช่วยลดความเข้มข้นของฝุ่นใกล้พื้นดินอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง

รมช.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นปัญหาที่เกิดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรฯ มิได้นิ่งนอนใจ และเล็งเห็นความสำคัญ โดยได้พยายามหามาตรการต่าง ๆ ในการรับมือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยในวันนี้ กรมฝนหลวงฯ ได้ริเริ่มแนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหา ด้วยการนำน้ำแข็งแห้งมาโปรยลงในพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่นควัน แม้ว่าจะยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด แต่ก็สามารถช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งตนได้กำชับหน่วยงานต่าง ๆ ให้ช่วยกันระดมความคิด หาแนวทางรับมือกับปัญหา เพื่อให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ “วันนี้ได้รับฟังรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รู้สึกเป็นห่วงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จึงได้กำชับให้เร่งหาวิธีแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว วันนี้เราได้ใช้น้ำแข็งแห้งที่เชียงใหม่ และยังมีแผนที่จะทำในพื้นที่อื่น ๆ อีก โดยได้มอบหมายให้จัดทำแผนแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็ให้เร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่ยุติการเผาตอซัง หรือวัชพืชเพื่อจะได้ช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น และเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะบรรเทาเบาบางลงได้” รมช.เกษตรฯ กล่าวในตอนท้าย

ในโอกาสเดียวกันนี้ นายราเชน ศิลปะรายะ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมด้วยสื่อมวลชน เดินทางไปยังแปลงเรียนรู้ตามระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ไม้ผล (ลำไย) เครือข่ายแปลงใหญ่จังหวัดลำพูน โดยเยี่ยมชมการดำเนินงาน “สวนสมบูรณ์” ของคุณพสิษฐ์ สุขสวัสดิ์ ประธานแปลงใหญ่จังหวัดลำพูน ที่มีการผลิตลำไยคุณภาพ ปลอดภัยภายใต้มาตรฐาน GAP ควบคู่กับการพัฒนา เพิ่มมูลค่าลำไย พร้อมด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตอบสนองความต้องการของตลาด ใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต พร้อมมีการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่มีประสิทธิภาพทำให้สวนสมบูรณ์ สามารถเพาะปลูกและมีผลผลิตที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการของประเทศ มีบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบหลักในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ เพื่อให้เกิดฝนในปริมาณและการกระจายที่เหมาะสม และการบริหารจัดการด้านการบินในภารกิจการทำฝน การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและภารกิจด้านการเกษตร เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหนึ่งในภารกิจที่สำคัญคือ ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้แก่พื้นที่เขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณต่ำกว่า 30% เพื่อรองรับการใช้น้ำสำหรับการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูฝนที่อาจได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง
สำหรับจังหวัดลำพูนมีพืชเศรษฐกิจหลัก คือ ลำไย และมะม่วง จากรายงานของสำนักงานเกษตรอำเภอ ประจำปี 2567 พบว่า ลำพูนมีพื้นที่เสี่ยงแล้ง แบ่งเป็น ลำไย จำนวน 13,225 ไร่ จากพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 362,229 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 3.65 และมะม่วง 3,955 ไร่ จากพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 40,206 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 9.84 ซึ่งลำพูนเป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องมีการบริการจัดการน้ำและวางแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
ภาพและวีดีโอ