พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี
10 เมษายน 2559
22,097
ครั้ง
วันที่ 10 เมษายน 2559 เวลา 13.30 น. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี จากนั้นได้มอบเงินโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ปี 2558/59 (มาตรการที่ 4) จำนวน 143 โครงการ 39.28 ล้านบาท แก่ผู้แทนเกษตรกร พร้อมตรวจเยี่ยมจุดแจกน้ำอุปโภคบริโภคเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
พลเอกฉัตรชัย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำและการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาภัยแล้งและการเติมน้ำลงในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในขณะนี้ว่า สำหรับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีความจุประมาณ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร ข้อมูล ณ. วันที่ 9 เมษายน 2559 มีน้ำใช้การได้ประมาณ 290 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือ 30% ปัจจุบันเขื่อนป่าสักฯมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำพระเจ้าพระยา โดยสามารถส่งน้ำเข้ามาช่วยเหลือการอุปโภค-บริโภคในชุมชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานีและกรุงเทพมหานคร อีกทั้งสามารถนำน้ำจากเขื่อนป่าสักฯมาช่วยในการรักษาระบบนิเวศน์ผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดจนส่งน้ำเพื่อการเกษตรกรรม การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมในระบบลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้อย่างทันท่วงที มากกว่าที่จะรอน้ำที่มาจากแหล่งน้ำต้นทุนในเขื่อนขนาดใหญ่ทางภาคเหนือ อาทิ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิต์ เป็นต้น ซึ่งจะใช้เวลาในการเดินทางของน้ำมากกว่าการนำน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มาใช้
พลเอกฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาสภาวะฝนทิ้งช่วงและวิกฤติภัยแล้งที่รุนแรง ยังได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรร่วมกับกรมชลประทานใช้พื้นที่โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็นพื้นที่ในการปฏิบัติงานภายใต้ “โครงการบริหารจัดการน้ำแบบครบวัฏจักรน้ำพื้นที่โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์” หรือ R-Square Project เป็นการร่วมมือบริหารจัดการน้ำจากชันบรรยากาศสู่น้ำท่าผิวดิน โดยนำร่องที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็นเขื่อนแรก กำหนดให้ดำเนินการระหว่างปี 2559 - 2561 โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวง ให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำของชลประทาน ตลอดจนสำรวจและประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ชลประทานและนอกเขตชลประทาน โดยใช้การสำรวจระยะไกล เช่น สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ พื้นที่ประสบภัยแล้งในเขตพื้นที่ชลประทาน รวมทั้งแผนในการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำและพื้นที่เกษตรกรรม ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ภาคกลางที่เป็นแหล่งปลูกข้าวแหล่งใหญ่ของประเทศ และการสำรองน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำหลักที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่ภาคกลาง ตลอดจนการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ การผลักดันน้ำเค็ม การเกษตรกรรม การท่องเที่ยวและการอุตสาหกรรม
ด้านนายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวถึงความคืบหน้าในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำลงในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักที่ผ่านมาว่า จากการปฏิบัติการของหน่วยเคลื่อนที่เร็ว 2 หน่วยครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก ได้แก่ หน่วยนครสวรรค์และพิษณุโลกระหว่าง 1 พฤศจิกายน 2558 – 14 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา สามารถขึ้นปฏิบัติการได้ 5 วัน จำนวน 28 เที่ยวบินพบว่า มีฝนตกทั้ง 5 วัน โดยรวมแล้วสามารถเติมน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้ 11 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งหลังนั้นได้ใช้ปฏิบัติการตามแผนปฏิบัติการประจำปี โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 – ปัจจุบัน สามารถขึ้นปฏิบัติการได้ 5 วัน จำนวน 10 เที่ยวบิน พบว่ามีฝนตกทั้ง 5 วัน โดยรวมแล้วสามารถเติมน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้ 0.54 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนผลดำเนินการในการปฏิบัติการฝนหลวงในทุกภาคของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ถึงปัจจุบัน รวม 34 วัน มีปฏิบัติการฝนหลวงรวม 457 เที่ยวบิน ส่งผลให้เกิดฝนตกใน 43 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 8 จังหวัด ภาคกลาง 12 จังหวัด ภาคอีสาน 9 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ภาคตะวันตก 3 จังหวัด ภาคใต้ 4 จังหวัด มีพื้นที่ฝนตกรวม 42 ล้านไร่ มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน 13 เขื่อน รวม 47 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในดินและเติมน้ำในเขื่อนได้





